โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว (หรือถดถอย?) แถมดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้การขอกู้เงินจากสถาบันการเงินยากขึ้นไปอีก เพราะสถาบันการเงินเองก็กลัวหนี้เสีย เมื่อเราจำเป็นต้องกู้จะทำยังไงดีที่จะกู้ได้
การกู้ร่วมก็เป็นทางออกที่น่าสนใจทางหนี่ง เราลองมาดูกันนะว่า “กู้ร่วม” ดียังไง เงื่อนไขทางกฎหมายมีอะไรบ้าง
“กู้ร่วม” คือการทำสัญญายื่นกู้สินเชื่อก้อนเดียวกันโดยมีผู้ขอกู้ร่วมกันมากกว่า 1 คน เพื่อให้สถาบันการเงินเพิ่มความมั่นใจว่าผู้กู้จะสามารถผ่อนชำระได้ตามกำหนด ทำให้ขออนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้น หรือได้วงเงินสูงขึ้น (เนื่องจากการมีผู้กู้ร่วม ฐานรายได้ที่นำมาพิจารณาก็จะเพิ่มขึ้น จึงมีโอกาสได้วงเงินสูงขึ้น) โดยปกติแล้วจะกู้ร่วมได้ไม่เกิน 3 คน สามารถกู้ร่วมได้ในสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์
ใครบ้างที่ขอกู้ร่วมได้?
1.คนที่มีนามสกุลเดียวกัน เช่น พี่-น้อง พ่อ-แม่-ลูก
2.พี่-น้องท้องเดียวกัน แม้จะคนละนามสกุลก็สามารถกู้ร่วมได้ โดยต้องแสดงทะเบียนบ้านหรือสูติบัตรระบุว่ามีพ่อแม่คนเดียวกัน
3.สามี-ภรรยา แม้จะไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็กู้ร่วมกันได้ แต่ต้องแสดงหลักฐานการเป็นสามี-ภรรยากัน เช่น ภาพถ่ายหรือการ์ดงานแต่งงาน หนังสือรับรองบุตร
ข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจ “กู้ร่วม”
1. การกู้ร่วมไม่ได้แปลว่าจะต้องรับผิดชอบหนี้แบบหารเท่าๆ กัน แต่หมายถึงทุกคนจะต้องรับผิดชอบหนี้สินก้อนนี้ร่วมกัน ดังนั้นถ้าผิดชำระหนี้หรือถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด ธนาคารมีสิทธิ์จะเรียกชำระหนี้จากใครก็ได้ที่เป็นผู้กู้ร่วม
2.การใส่ชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในการกู้ร่วมอสังหาริมทรัพย์จะมีอยู่ 2 แบบคือ
• “ใส่ชื่อคนเดียวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์” โดยผู้กู้ร่วมจะไม่มีกรรมสิทธิ์ใด ๆ ในอสังหาฯ นั้น (แต่ภาระหนี้ร่วมยังมีอยู่นะ)
• “ใส่ชื่อผู้กู้ร่วมทุกคนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์” แบบนี้ทุกคนที่กู้ร่วมจะมีสิทธิเท่าๆ กัน แต่หากต้องการขายอสังหาฯ นั้น จะต้องได้รับการยินยอมจากผู้ถือกรรมสิทธิ์ทุกคน
3.สิทธิ์ลดหย่อนภาษีจะหารเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้ จะแบ่งกันเองไม่ได้ แต่จะลดหย่อนรวมได้สูงสุดเพียง 100,000 บาท (ถ้ากู้ร่วม 2 คน แปลว่าลดหย่อนได้สูงสุดคนละ 50,000 บาท)
4.การเสียชีวิตของผู้กู้ร่วมจะไม่กระทบต่อสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งยังอยู่ในระหว่างสัญญา โดยสัญญากู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัยที่ทำกับธนาคารนั้นไม่ได้ระงับไปจากการเสียชีวิตของผู้กู้ร่วมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย กล่าวได้ว่าสถานะของผู้กู้ร่วมแต่ละฝ่ายยังคงอยู่ในสภาพเดิมเหมือนก่อนเสียชีวิต
การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของสินเชื่อบ้านจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องแจ้งให้ธนาคารทราบว่าผู้กู้ร่วมเสียชีวิต เมื่อนั้นธนาคารจะเรียกให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้เสียชีวิตเข้ามาลงชื่อเพื่อแสดงเจตนาที่จะรับสภาพหนี้ ภายใน 1 ปี
ผลที่เกิดจากการแสดงเจตนายอมรับสภาพหนี้นั้นจะมีผลผูกพันกับทายาทของผู้กู้ร่วมซึ่งเสียชีวิต โดยทำให้ทายาทที่รับสภาพหนี้เข้ามาอยู่ในฐานะลูกหนี้ของธนาคารแทนที่ผู้กู้ร่วมที่เสียชีวิต ในส่วนนี้มีข้อจำกัดคือทายาทที่จะสามารถรับสภาพหนี้ได้นั้นจะต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว
สำหรับกรรมสิทธิ์ของบ้านนั้น ถ้าเดิมเป็นการกู้ร่วมแบบ “ใส่ชื่อผู้กู้ร่วมทุกคนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์” ดังนั้นเมื่อผู้กู้ร่วมเสียชีวิตกรรมสิทธิในส่วนของผู้กู้ร่วมที่เสียชีวิตก็จะตกทอดไปสู่ทายาทด้วยเช่นกัน โดยทายาทและผู้จัดการมรดกต้องไปดำเนินการที่สำนักงานที่ดิน ณ เขตซึ่งอสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ เพื่อแจ้งความจำนงค์เพื่อขอเปลี่ยนแปลงชื่อด้านหลังโฉนดจากผู้กู้ร่วมที่เสียชีวิตเปลี่ยนเป็นชื่อของตนเอง ซึ่งในการดำเนินการนี้จะมีค่าธรรมเนียมในการโอน 2% ของราคาประเมิน
มีคำถามขึ้นมา ก็คือ หากกรณีที่ผู้กู้ร่วมที่ยังมีชีวิตอยู่มีความสามารถที่จะผ่อนชำระสินเชื่อในส่วนของตนเองและส่วนของผู้กู้ร่วมที่เสียชีวิตไปด้วย ทำได้หรือไม่ อันนี้สถาบันการเงินชอบมากไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด แต่ที่ควรระวังก็คือ หากเป็นการกู้ร่วมแบบ “ใส่ชื่อผู้กู้ร่วมทุกคนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์” ในกรณีนี้แม้เราจะผ่อนเพียงคนเดียว กรรมสิทธิ์ในบ้านส่วนที่เป็นของผู้กู้ร่วมที่เสียชีวิตยังคงตกทอดเป็นมรดกสู่ทายาทของผู้กู้ร่วมฝ่ายที่เสียชีวิตอยู่ดี
5.ลงชื่อกู้ร่วมแล้วจะยกเลิกได้มั้ย? จะถอนชื่อกู้ร่วมได้ ต่อเมื่อธนาคารพิจารณาแล้วว่าผู้กู้ร่วมที่เหลืออยู่สามารถผ่อนชำระไหว หรือใกล้หมดสัญญาแล้ว แต่ถ้าธนาคารเห็นว่าคนที่เหลืออยู่ผ่อนไม่ไหว ก็ต้องหาคนอื่นมากู้ร่วมแทน
6.กรณีผู้กู้ร่วมที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่สามารถผ่อนชำระบ้านต่อด้วยตนเอง และไม่สามารถหาผู้กู้ร่วมได้ เบื้องต้นทางธนาคารจะให้เวลาผู้กู้ร่วมในการหาผู้กู้ร่วมรายใหม่ โดยมีมาตรการยืดหยุ่นในการผ่อนชำระ เช่น อาจให้ผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย 3 เดือน ฯลฯ แต่ถ้าผู้กู้ร่วมยังไม่สามารถหาผู้กู้ร่วมรายใหม่ได้ ผู้กู้ร่วมจำเป็นที่จะต้องขายบ้านดังกล่าวออกไปแก่บุคคลภายนอก ในกรณี “ใส่ชื่อผู้กู้ร่วมทุกคนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์” ผู้กู้ร่วมที่ยังมีชีวิตต้องประสานกับผู้จัดการมรดกของผู้กู้ร่วมที่เสียชีวิตเพื่อยินยอมให้ดำเนินการขายบ้านร่วมกัน และในกรณีสุดท้ายที่ไม่สามารถขายบ้านได้ และไม่สามารถชำระหนี้บ้านได้ธนาคารจะถือว่าผู้กู้ร่วมที่ยังมีชีวิตและทายาทของผู้กู้ร่วมฝ่ายที่เสียชีวิตผิดนัดชำระหนี้
“การกู้ร่วม” คือการก่อหนี้ร่วมกัน ดังนั้นจะก่อหนี้กับใครก็ดูให้ดีก่อน ไม่มั่นใจ ก็อย่าดีกว่า ไม่งั้นอาจมีปัญหาในอนาคต
ขอบคุณข้อมูล ddproperty.com และ ttbbank.com
อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : ไม่รู้ว่า ไม่รู้อะไร
ความจริงความคิด : อยากเป็นคนดี แต่กลัวโดนภาษี
ความจริงความคิด : Forex คือเรื่องหลอกลวง
ความจริงความคิด : จิตวิทยาการโกง รู้ทันคนโกงด้วยจิตวิทยา 2
ความจริงความคิด : จิตวิทยาการโกง รู้ทันคนโกงด้วยจิตวิทยา 1
ความจริงความคิด : ข้อสงสัยประกันสังคมกรณีชราภาพ
ความจริงความคิด : อย่าเชื่อเพียงเพราะเป็นโฆษณาบนสื่อที่เชื่อถือได้
ความจริงความคิด : ภาษีลาภลอย
ความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน
ความจริงความคิด : ยิ่งเอาคืน ยิ่งขาดทุน
ความจริงความคิด : เปลี่ยนสวนกล้วย เป็นสวนสาธารณะ
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : เงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ